กลับมาพบกันอีกครั้งนะคะ กับรอบรั้วมอดัง วันนี้พี่มิ้นท์เอลิสท์จะพาน้องๆมารู้จักกับ "งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์" กันค่ะ พี่มิ้นท์เชื่อว่าน้องๆหลายคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง นับว่าเป็นงานที่ใหญ่มากๆเลยค่ะ จัดแต่ละทีได้รับความสนใจจากสื่อทั้งประเทศเลยทีเดียว เพราะในงานจะมีการแข่งฟุตบอลแมทใหญ่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สีสันแต่ละปีจะอยู่ที่การแปลอักษรของอัฒจรรย์ และขบวนล้อการเมืองของเหล่านักศึกษา เชียร์ลีดเดอร์หนุ่มหล่อ-สาวสวย ที่เห็นแล้วก็บอกว่า น่ารัก สดใส ขบวนล้อการเมือง ก็ใช่ย่อย มาแบบแรงๆ จัดเต็ม เสียดสี ได้มันส์หยด น่าสนใจใช่ไหมละคะ ว่าแล้วเราไปทำความรู้จักกับงานนี้กันดีกว่า งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯ เป็นงานฟุตบอลประเพณีระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 แต่ละปีเอาชื่อมหาวิทยาลัยเจ้าภาพขึ้นก่อน งานฟุตบอลประเพณีนี้แตกต่างจากกีฬามหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ตรงที่นักกีฬาของทั้งสองฝ่ายไม่จำต้องเป็นนิสิตนักศึกษาปัจจุบันจากทางมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ทว่า หลายปีที่ผ่านมาแต่ละมหาวิทยาลัยมักให้นิสิตนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าที่เป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทยมาแข่งขันกัน[ต้องการอ้างอิง] กิจกรรมภายในงานอาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การแข่งขันฟุตบอล และกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา เช่น การเดินพาเหรด การเชียร์ การแปรอักษร และขบวนพาเหรดล้อการเมือง ซึ่งเป็นจุดเด่น โดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และรายได้ทั้งหมดจากการจัดงานจะมอบให้แก่การกุศล ผลการแข่งขันถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชนะ 24 ครั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชนะ 16 ครั้ง และเสมอกัน 31 ครั้ง งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2477 โดยกลุ่มนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อสร้างความสามัคคีนิสิตในหมู่นิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัย เนื่องจากมุมมองของนักเรียนในสมัยก่อนว่า ผู้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำเร็จมัธยมศึกษา ส่วนผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อในขณะนั้น) ไม่สำเร็จมัธยมศึกษา ทำให้มีการดูถูกกันหรือไม่สนิทสนมกันเหมือนเดิม จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมสานความสามัคคีและสร้างความปรองดองระหว่างกัน โดยมีแบบอย่างจากการแข่งขันเรือประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร และการแข่งขันเบสบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยเคโอและมหาวิทยาลัยวาเซดะในประเทศญี่ปุ่น แต่กลุ่มผู้ริเริ่มถนัดและสนใจกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่เมื่ออยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงตกลงที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลขึ้น กำเนิดฟุตบอลประเพณี ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ก่อกำเนิดครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2477 โดย แนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ได้หารือกันว่าควรจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างความ สามัคคีระหว่าง นิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันและควรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์มีพล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค บุศย์ สิมะเสถียร และฝ่ายจุฬาฯ มี ประสงค์ ชัยพรรค,ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ การแข่งขันครั้งแรกนั้นทางฝ่ายธรรมศาสตร์คือ ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองสมัยนั้นรับจัดการแข่งขัน และได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน การแข่งขันทุกปีนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า รายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมีการมอบการกุศลทุกครั้งโดย ในครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ณ สนามหลวง ท้องทุ่งพระสุเมรุ มีการเก็บเงินค่าผ่านประตูบำรุงสมาคมปราบวัณโรค ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดของไทยขณะนั้น หลังจากนั้นก็มีการเก็บเงินบำรุงการกุศลเรื่อยมา เช่น ในช่วงแรก ๆ มีการเก็บ เงินบำรุงทหาร สมทบทุนสร้างเรือนพักคนไข้วัณโรคช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยบำรุงสภากาชาด บำรุงมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก สมทบทุนอานันทมหิดล สร้างโรงเรียนชาวเขา ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีการเก็บเงินเพื่อบำรุงการศึกษาของทั้งสองสถาบัน และตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 34 (พ.ศ. 2521) จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้นำเงินรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ด้านสถานที่ที่ใช้ในการแข่งขัน มีครั้งแรกเพียงครั้งเดียวที่ใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่แข่งขัน ครั้งที่ 2, 3, 4 ได้ย้ายไปจัดที่สนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และนับตั้งแต่ครั้งที่ 5 เป็นต้นมาได้ย้ายมาจัดที่ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นครั้งที่ 41 และ 44 จัดที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์) แม้ว่าจะถือเป็นประเพณีว่าการจัดการแข่งขันจะจัดเป็นประจำทุกปี แต่ในบางปีสถานการณ์บ้านเมืองไม่เหมาะสม ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดงาน จึงได้มีการงดเว้นในหลาย ๆ ช่วงคือ ในปี พ.ศ. 2485 เนื่องจากเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯพ.ศ. 2487-2491 ไม่มีการแข่งขัน เนื่องจากอยู่ในระหว่างสงคราม พ.ศ. 2494 มีเหตุขัดข้องบางประการ พ.ศ. 2516-2518 และ พ.ศ. 2520 ไม่มีการแข่งขัน เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย อนึ่ง นับตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 10 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา เสียงเพลงพระราชทาน "มหาจุฬาลงกรณ์" และ "ยูงทอง" ได้ก้องกังวานขึ้นเป็นครั้งแรกที่มี การชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จมาทรงเป็นประธาน และตั้งแต่ครั้งที่ 12 วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2495 จนถึงปัจจุบัน มีการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงนับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของนิสิต-นักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน ในการที่จะรักษาประเพณีอันดี ความสามัคคีของทั้ง 2 สถาบันให้แน่นแฟ้นสืบไป... |
......... สำหรับวันนี้รอบรั้วมอดังก็ขอลากันไปก่อนนคะ พี่มิ้นท์หวังว่าบทความนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้น้องๆทุกคนอ่านหนังสือเพื่อที่จะเข้ามหาลัยกันนะคะ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆจากทางรั้วธรรมศาสตร์และจุฬาจ้า คราวหน้าพี่มิ้นท์จะพาไปรอบรั้วมอดังที่ไหน อย่าลืมติดตามกันนะคะ อัพเดททุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีจ้า |
ขอบคุณภาพสวยๆจาก : APOCALIYPSE19 รายงานโดย : พี่มิ้นท์ ALIST |